ตการวิปุลาฉันท์ ๓๒

     “ตการวิปุลาฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ในวิสมวุตตินิเทศ ท่านเรียกว่า “ตการวิปุลาคาถา” มีสูตรว่า “โตณฺณวา ตถาญฺญา สิยา” แปลว่า “คาถาที่มี ต คณะท้าย ๔ พยางค์แรกในวิสมบาท (และมี ช คณะท้าย ๔ พยางค์ในสมบาท) ชื่อว่า “ตการวิปุลา” เหมือนอย่างนั้น” คาถาหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๘ คำ

        นำมาบัญญัติเป็นฉันท์ไทยทั้ง ๔ บาท โดยกำหนดฉันท์ไทยบาทหนึ่งมี ๔ บาท ทุกบาทประกอบด้วยครุลอย บาทละ ๒ คำ ทั้งหน้าและหลัง คำที่ ๒, ๓, ๔ ในทุกบาท ห้ามใช้ น คณะ และ ส คณะ อีก ๖ คณะ ที่เหลือใช้ได้ คำที่ ๕, ๖, ๗ ในบาทคี่ ให้ใช้ ต คณะ อย่างเดียว คำที่ ๕, ๖, ๗ ในบาทคู่ ให้ใช้ ช คณะ แต่ในฉันทศาสตร์ว่า คำที่ ๕, ๖, ๗ ทุกบาท ใช้ ต คณะ เหมือนกันทั้ง ๔ บาทบ้าง ฉันท์บทหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๘ คำ รวมเป็น ๓๒ คำ จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๓๒” มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้