ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์

ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ [1]

———————

ภาคที่ ๑

ข้อความเบื้องต้น

———

ลักษณะ ๑
หลักทั่วไป

         มาตรา ๑ ในประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น

         มาตรา ๒ ในประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์นี้

              (๑) คณะวินัยธร หมายถึงคณะวินัยธรซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามสังฆาณัติ ว่าด้วยระเบียบการแต่งตั้งคณะวินัยธร

              (๒) พระธรรมธร หมายถึงพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งขึ้นตามกติกาสงฆ์ให้เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อคณะวินัยธร

              (๓) ผู้ต้องหา หมายถึงพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อคณะวินัยธร

              (๔) จำเลย หมายถึงพระภิกษุผู้ถูกฟ้องยังคณะวินัยธรแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำผิด

              (๕) ผู้เสียหาย หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดสถานใดสถานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีสิทธิจัดการแทนได้

              (๖) โจทก์ หมายถึงบุคคลผู้เสียหาย หรือพระธรรมธรผู้กระทำการแทนในนามของสงฆ์ผู้เสียหาย ซึ่งฟ้องอธิกรณ์ต่อคณะวินัยธร

              (๗) คู่อธิกรณ์ หมายถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง

              (๘) เจ้าอาวาส หมายถึงพระภิกษุผู้มีหน้าที่และอำนาจในทางปกครองวัด ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

              (๙) เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หมายถึงพระภิกษุผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง ดังนี้

                   (ก) เจ้าคณะอำเภอ

                   (ข) เจ้าคณะจังหวัด

              (๑๐) คำร้องทุกข์ หมายถึงคำร้องที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ว่า ผู้มีชื่อนี้ได้กระทำผิดขึ้นซึ่งให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวเช่นนั้น ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะปลดเปลื้องความเสียหายหรือจะเชิดชูพระธรรมวินัย หรือจะกำจัดมลทินของคณะสงฆ์หรือของพระพุทธศาสนา

              (๑๑) คำกล่าวโทษ หมายถึงคำที่บุคคลซึ่งมิใช่ผู้เสียหายได้กล่าวต่อผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ว่า ผู้มีชื่อนี้ได้กระทำผิดขึ้น

              (๑๒) การสืบสวน หมายถึงการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือหลักฐานซึ่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหารได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อความบริสุทธิ์ แห่งคณะสงฆ์ หรือแห่งพระพุทธศาสนา เเละเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด

              (๑๓) การสอบสวน หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลาย อื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ ซึ่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ได้กระทำไปเกี่ยวกับความผิดตามที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อกำจัดมลทินของคณะสงฆ์หรือของพระพุทธศาสนา

              (๑๔) การไต่สวนมูลอธิกรณ์ หมายถึงกระบวนการไต่สวนของคณะวินัยธร เพื่อวินิจฉัยถึงมูลอธิกรณ์ที่จำเลยต้องหา

              (๑๕) สิ่งของ หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในอธิกรณ์ได้ ให้รวมทั้งจดหมาย โทรเลข และเอกสารอย่างอื่นๆ

              (๑๖) บันทึก หมายถึงหนังสือใด ๆ ที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร จดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิด รวมทั้งคำร้องทุกข์ และคำกล่าวโทษด้วย

              (๑๗) ถ้อยคำสำนวน หมายถึงหนังสือใดๆ ที่คณะวินัยธรจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินอธิกรณ์ ในคณะวินัยธรชั้นนั้นๆ

         มาตรา ๓ ห้ามมิให้ภิกษุเป็นโจทก์ฟ้องอนุปสัมบันต่อคณะวินัยธร และห้ามมิให้ฟ้องอนุปสัมบันหรืออนุปสัมบันในศาลหลวงฝ่ายอาณาจักร เว้นแต่ขออารักขาตามพระวินัย

         มาตรา ๔ ห้ามมิให้โจทก์และจำเลยแต่งผู้ว่าอธิกรณ์แทนตน ดุจทนายผู้ว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลหลวงฝ่ายอาณาจักร

         มาตรา ๕ นับแต่เวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้

              (๑) ตรวจดูสำนวนอธิกรณ์ทั้งหมด และคัดสำเนาหรือขอสำเนาที่รับรองว่าถูกต้อง

              (๒) ตรวจดูสิ่งของที่เป็นพยานหลักฐาน คัดสำเนาหรือหารูปถ่ายสิ่งของนั้นๆ

              (๓) แถลงแก้ข้อหาของโจทก์

         มาตรา ๖ ในการสอบสวน ไต่สวนมูลอธิกรณ์ หรือพิจารณาอธิกรณ์ เจ้าอาวาส  เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธร มีอำนาจเรียกบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์นั้นได้

         ถ้าผู้ถูกเรียกนั้นขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม ให้ขออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร แต่ถ้าผู้นั้นเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ให้เจ้าอาวาสส่งตัวทันที

         มาตรา ๗ การสอบสวน การไต่สวนมูลอธิกรณ์ การพิจารณา หรือคำวินิจฉัยให้ใช้ภาษาไทย

         คำพยานหรือเอกสารอื่นที่เป็นภาษาอื่น ต้องให้ล่ามเเปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องและล่ามผู้แปลต้องปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริต จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปลนั้น ให้ล่ามลงลายมือชื่อในคำที่แปลนั้นด้วย

         มาตรา ๘ ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลอธิกรณ์ หรือพิจารณา ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริต ไม่สามารถให้ถ้อยคำได้    เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธรผู้ทำหน้าที่เช่นนั้น จะงดหรือสั่งพักการนั้นไว้ชั่วคราวก็ได้

         มาตรา ๙ ในกรณีที่ต้องบันทึก ให้ระบุสถานที่ วัน เดือน ปี ที่ทำ ชื่อและตำแหน่งของผู้ทำบันทึก

         ถ้าผู้ทำบันทึกทำโดยคำสั่งของคณะวินัยธร หรือคำสั่งของเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ให้ผู้ทำบันทึกนั้นระบุไว้ด้วยว่า ได้รับคำสั่งหรือคำขอเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปแล้วอย่างใด

         ให้ผู้ทำบันทึกลงลายมือชื่อของตนในบันทึกนั้น

         มาตรา ๑๐ ถ้อยคำสำนวน ต้องระบุชื่อคณะวินัยธรชั้นนั้นๆ สถานที่ วัน เดือน ปี ที่จด ถ้าคณะวินัยธรจดตามคำสั่งหรือประเด็นของคณะวินัยธรอื่น ให้กล่าวเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปแล้วอย่างใด

         พระวินัยธร ผู้จดถ้อยคำสำนวน ต้องลงลายมือชื่อของตน  ในถ้อยคำสำนวนนั้น

         มาตรา ๑๑ บันทึกหรือถ้อยคำสำนวนนั้น ให้ผู้ทำบันทึกหรือคณะวินัยธรผู้จดอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังโดยชัดเจน ถ้ามีข้อความต้องแก้ไข ทักท้วงหรือเพิ่มเติม ให้แก้ให้ถูกต้องหรือมิฉะนั้นก็ให้บันทึกไว้ และให้ผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อรับรองว่าถูกต้องแล้ว

         ถ้าบุคคลที่ต้องลงลายมือชื่อในบันทึกหรือถ้อยคำสำนวน ไม่สามารถหรือไม่ยอมลงให้บันทึกหรือจดรายงานเหตุนั้นไว้

         มาตรา ๑๒ เอกสารซึ่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธร เป็นผู้ทำบันทึกคำร้องทุกข์ คำกล่าวโทษ คำให้การจำเลย หรือคำร้อง ซึ่งยื่นต่อเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธร ต้องเขียนด้วยน้ำหมึก หรือพิมพ์ดีด หรือตีพิมพ์ ถ้ามีที่ผิดที่ใดที่หนึ่ง ห้ามมิให้ลบออก ให้เพียงแต่ขีดฆ่าคำผิดนั้นแล้วเขียนใหม่ ผู้แก้ไขต้องลงชื่อย่อกำกับไว้ข้างกระดาษ

         ถ้าตกเติมในเอกสารดังกล่าวแล้วนี้ ผู้ตกเติมต้องลงชื่อย่อกำกับไว้

         เฉพาะในหน้าหนึ่งๆให้บอกจำนวนแห่งที่แก้ไขตกเติมด้วย

         มาตรา ๑๓ อำนาจเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร พระธรรมธร พระวินัยธร และคณะวินัยธร ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ ข้อบังคับและระเบียบอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร พระธรรมธร พระวินัยธร และคณะวินัยธรนั้นๆ

         มาตรา ๑๔ ระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์อันใด ที่มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติหรือระเบียบแบบแผนอื่นซึ่งไม่ขัดกัน มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ลักษณะ ๒
คำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษ

         มาตรา ๑๕ ในกรณีซึ่งผู้เสียหายเป็นอนุปสัมบัน ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อเจ้าอาวาส ที่ผู้กระทำผิดนั้นสำนักอยู่ ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าอาวาสผู้ได้รับคำร้องทุกข์นั้น ดำเนินการระงับในที่พร้อมหน้าผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ ตามพระธรรมวินัย และระเบียบฝ่ายบริหาร และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อได้จัดการไปแล้วอย่างไร ต้องทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

         เมื่อตกลงกันไม่ได้ในชั้นนี้  ให้เจ้าอาวาสเสนอคำร้องทุกข์พร้อมทั้งบันทึกการระงับของตนต่อเจ้าคณะตำบล เมื่อเจ้าคณะอำเภอได้รับคำร้องทุกข์นั้นแล้ว  ก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเจ้าอาวาส เมื่อไม่ตกลงกันอีก เจ้าคณะตำบลพึ่งแจ้งให้ผู้เสียหายนั้น ดำเนินการฟ้องต่อคณะวินัยธรชั้นต้นต่อไป

         ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นอนุปสัมบัน หากปรารถนาจะร้องทุกข์ก็ย่อมทำได้ แต่ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกับผู้เสียหายที่เป็นอนุปสัมบัน

         มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบลหรือกรรมการสงฆ์อำเภอ  ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะอำเภอ

         ถ้าผู้ต้องหาเป็นเจ้าคณะอำเภอ พระธรรมธร หรือกรรมการสงฆ์จังหวัด ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะจังหวัด

         ถ้าผู้ต้องหาเป็นเจ้าคณะจังหวัด ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

         ถ้าผู้ต้องหาเป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อสังฆนายก

         ถ้าผู้ต้องหาเป็นพระวินัยธร ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อหัวหน้าคณะวินัยธร

         ถ้าผู้ต้องหาเป็นหัวหน้าคณะวินัยธร ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อประธานคณะวินัยธร

         ให้ผู้ได้รับคำร้องทุกข์ ดำเนินการระงับดังกล่าวแล้ว ให้วรรคต้นแห่งมาตรา ๑๕ แห่งประมวลนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ในชั้นนี้ผู้ได้รับคำร้องทุกข์ พึงแจ้งให้ผู้เสียหายนั้นดำเนินการฟ้องอธิกรณ์ต่อคณะวินัยธรชั้นต้นต่อไป

         มาตรา ๑๗ ในการระงับนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมตามคำระงับแล้ว ต้องทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และในบันทึกนั้นต้องมีสถานที่ทำการระงับ วัน เดือน ปี ชื่อ ฉายา หรือ  ชื่อสกุล  อายุ  พรรษา  สำนักที่อยู่และลายมือชื่อของผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์  ลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ระงับและผู้จดบันทึก บันทึกนั้นต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน

         มาตรา ๑๘ คำร้องทุกข์นั้น ต้องปรากฏ

              (๑) ชื่อ ฉายา รูปพรรณ และสำนักที่อยู่ของผู้กระทำผิด

              (๒) ลักษณะความผิด

              (๓) พฤติการณ์ต่างๆที่ผู้กระทำผิดนั้นกระทำลง

              (๔) ความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ

              (๕) ชื่อ ฉายา หรือชื่อสกุล และที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์

         คำร้องทุกข์นั้น จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าทำเป็นหนังสือ ต้องมี

              (๑) สถานที่ทำ

              (๒) วัน เดือน ปี ที่ทำ

              (๓) ลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์

         ถ้าร้องด้วยปาก ให้ผู้ได้รับคำร้องทุกข์ทำบันทึกไว้ ลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ทำบันทึกและผู้ร้องทุกข์

         มาตรา ๑๙ ผู้ร้องทุกข์จะขอแก้หรือขอถอนคำร้องทุกข์ในระยะใดก็ได้

         มาตรา ๒๐ ในเรื่องคำกล่าวโทษ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๕,๑๖,๑๗,๑๘,๑๙,

๓๗,๓๘ และ ๕๘ แห่งประมวลนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

         ผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษ จะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณี ดังต่อไปนี้ก็ได้

              (๑) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแสดงตน

              (๒) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์

              (๓) คำกล่าวโทษที่บันทึกแล้ว แต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ

ลักษณะ ๓
อำนาจสืบสวนและสอบสวน

         มาตรา ๒๑ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร มีอำนาจสืบสวนได้ทุกกรณี และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา ๒๒,๒๓,และ ๒๔ แห่งประมวลนี้ ความผิดใดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอนั้น เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้น เพื่อดำเนินอธิกรณ์ เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อความสะดวกในความผิดที่ผู้ต้องหาอยู่นอกเขต ให้เจ้าอาวาสแห่งวัดที่ผู้ต้องหานั้นสังกัดอยู่ เข้าร่วมการสอบสวนด้วย

         มาตรา ๒๒ ในกรณีดังต่อไปนี้

              (๑) เป็นการไม่แน่นอนว่าความผิดนั้น ได้กระทำในท้องที่ใด ในระหว่างหลายท้องที่

              (๒)  เมื่อความผิดส่วนหนึ่ง  ได้กระทำในท้องที่หนึ่ง  แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง

              (๓) เมื่อความผิดนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องและการกระทำต่อเนื่องในท้องที่ต่างๆเกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป

            (๔) เมื่อความผิดหลายวัตถุ ได้กระทำในท้องที่ต่างๆกัน

              (๕) เมื่อความผิดนั้น เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ต้องหากำลังเดินทาง

              (๖) เมื่อความผิดนั้น เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เสียหายกำลังเดินทาง

         เจ้าคณะจังหวัดในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดนั้น มีอำนาจดำเนินการสอบสวนร่วมกับเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะอำเภอนั้นๆ

         ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้เจ้าคณะฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

              (๑) ในเมื่อมีผู้นำผู้ต้องหาซึ่งได้ตัวในเขตอำนาจมามอบ

              (๒) ในเมื่อมีผู้มาเเจ้งเรื่องการกระทำผิดของผู้ต้องหาซึ่งปรากฏตัวในเขตอำนาจ

         มาตรา ๒๓ ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามพระวินัย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร  ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

         ในกรณีเช่นนี้ ถ้าจำเป็น เจ้าคณะจังหวัดที่ได้รับมอบตัวผู้ต้องหา ดำเนินการสอบสวนได้ เมื่อสอบสวนเสร็จเเล้ว ให้ทำบันทึกเสนอเรื่องทั้งหมดส่งไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

         ในเรื่องการสอบสวนนั้น ให้นำบทบัญญัติอันว่าด้วยหนังสือเรียกและสอบสวนแห่งประมวลนี้ มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ลักษณะ ๔
อำนาจคณะวินัยธร

         มาตรา ๒๔ เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของคณะวินัยธรใด ให้ดำเนินการชำระที่คณะวินัยธรนั้น แต่ถ้า

              (๑) เมื่อจำเลยมีสำนักอยู่ หรือถูกนำตัวส่งในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าคณะฝ่ายบริหารทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่ง นอกเขตอำนาจของคณะวินัยธรดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการชำระที่คณะวินัยธรซึ่งท้องที่นั้นๆอยู่ในเขตอำนาจก็ได้

              (๒) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ให้ดำเนินการชำระที่คณะวินัยธรชั้นต้นจังหวัดพระนคร

         มาตรา ๒๕ เมื่อคณะวินัยธรชั้นต้น ตั้งแต่สองคณะขึ้นไปต่างมีอำนาจชำระอธิกรณ์ ถ้าโจทก์ได้ยื่นฟ้องอธิกรณ์ต่อคณะวินัยธรคณะหนึ่ง ซึ่งตามฟ้อง ความผิดนั้นมิได้เกิดขึ้นในเขต โจทก์หรือจำเลยจะร้องขอให้โอนอธิกรณ์ไปชำระที่คณะวินัยธรอื่น ซึ่งเป็นเจ้าของเขตอำนาจที่เกิดความผิดก็ได้

         ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องต่อคณะวินัยธรซึ่งความผิดเกิดขึ้นในเขต แต่ต่อมาปรากฏแก่โจทก์ว่า การพิจารณาอธิกรณ์จะสะดวกยิ่งขึ้น ถ้าให้คณะวินัยธรอีกคณะหนึ่งซึ่งมีอำนาจชำระอธิกรณ์ ได้พิจารณาอธิกรณ์นั้น โจทก์จะยื่นคำร้องต่อคณะวินัยธรซึ่งอธิกรณ์นั้นยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ขอโอนอธิกรณ์ไปยังคณะวินัยธรอีกคณะหนึ่งนั้นก็ได้ แม้ว่าจำเลยคัดค้านก็ตาม เมื่อคณะวินัยธรนั้นเห็นสมควร จะโอนอธิกรณ์ไป หรือยกคำร้องเสียก็ได้

         มาตรา ๒๖ เมื่อความผิดหลายวัตถุเกี่ยวพันกันโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง เป็นต้นว่า

              (๑) ปรากฏว่าผู้กระทำผิดรูปเดียว ได้กระทำความผิดหลายวัตถุ หรือผู้กระทำผิดหลายรูปเกี่ยวพันกันในความผิดวัตถุหนึ่งหรือหลายวัตถุ จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้ หรือผู้สนับสนุนก็ตาม

              (๒) ปรากฏว่าผู้กระทำผิดหลายรูป ได้กระทำความผิดหลายวัตถุด้วยเจตนาอย่างเดียวกัน หรือโดยได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว

              (๓) ปรากฏว่าผู้กระทำผิดได้กระทำความผิด ด้วยเจตนาจะช่วยผู้กระทำความผิดอื่นให้พ้นจากการรับโทษในความผิดอย่างอื่น ซึ่งเขาได้กระทำไว้

         ดังนี้จะฟ้องอธิกรณ์ทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทำผิดทั้งหมดต่อคณะวินัยธรซึ่งมีอำนาจชำระในวัตถุแห่งความผิดที่มีโทษสูงกว่าก็ได้

         ถ้าความผิดอันเกี่ยวพันกันมีโทษอย่างสูงเสมอกัน คณะวินัยธรซึ่งมีอำนาจชำระ ก็คือคณะวินัยธรซึ่งรับฟ้องเรื่องใดเรื่องหนึ่งในความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน

         มาตรา ๒๗ คณะวินัยธรซึ่งรับฟ้องอธิกรณ์ที่เกี่ยวพันกันไว้ จะพิจารณาวินิจฉัยรวมกันไปก็ได้

         แต่ถ้าคณะวินัยธรซึ่งรับฟ้องอธิกรณ์ที่เกี่ยวพันกันไว้ เห็นว่าความผิดวัตถุหนึ่งควรได้ชำระในคณะวินัยธรอื่น ซึ่งตามปกติมีอำนาจชำระ หากว่าอธิกรณ์นั้นไม่เนื่องด้วยความผิดเกี่ยวพัน เมื่อได้ตกลงกับคณะวินัยธรนั้นแล้ว จะส่งให้ฟ้องต่อคณะวินัยธรอื่นนั้นก็ได้

         มาตรา ๒๘ หากว่าตามลักษณะความผิด ฐานะของจำเลย จำนวนของจำเลย ความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นนั้น หรือเหตุผลอย่างอื่น อาจมีการขัดขวางต่อการไต่สวนมูลอธิกรณ์หรือการพิจารณา หรือน่ากลัวจะเกิดความไม่สงบ หรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น เมื่อโจทก์หรือจำเลย หรือเจ้าคณะจังหวัดในเขตอำนาจของคณะวินัยธรร้องขอให้งดการไต่สวนหรือพิจารณาไว้ก่อน ก็ให้งดได้ หรือคณะวินัยธรพิจารณาเห็นสมควรจะงด ก็งดได้ในระยะเวลาอันสมควร แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันได้รับฟ้อง

         เมื่อพ้นกำหนดนั้นเเล้ว แต่คณะวินัยธรยังเห็นว่า ถ้าจะดำเนินการไต่สวนหรือพิจารณา อาจมีเหตุเช่นนั้นอีก ก็ให้รายงานไปยังประธานคณะวินัยธรขอให้โอนอธิกรณ์ไปยังคณะวินัยธรอื่น เมื่อประธานคณะวินัยธรเห็นชอบด้วย  ก็ให้สั่งโอนอธิกรณ์ ไปยังคณะวินัยธรชั้นต้นได้ตามที่เห็นสมควร

ลักษณะ ๕
หนังสือเรียก

         มาตรา ๒๙ การที่จะให้บุคคลใดมายังเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธร เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลอธิกรณ์ การพิจารณาอธิกรณ์ หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ จักต้องมีหนังสือเรียกของเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร  หรือของคณะวินัยธร แล้วแต่กรณี

         แต่ในกรณีที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหนังสือ

         มาตรา ๓๐ หนังสือเรียกต้องทำเป็นหลักฐาน มีข้อความดังต่อไปนี้

              (๑) สถานที่ออกหนังสือ

              (๒) วัน เดือน ปี ที่ออกหนังสือ

              (๓) ชื่อ ฉายา หรือชื่อสกุล และที่อยู่ของบุคคลผู้ถูกเรียกให้มา

              (๔) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา

              (๕) สถานที่ วัน เดือน ปี และเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง

              (๖) ลายมือชื่อและประทับตราของคณะวินัยธร หรือลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร

         มาตรา ๓๑ ในการกำหนดวันและเวลาที่จะให้ผู้ถูกเรียกมาตามหนังสือเรียกนั้น ให้ระลึกถึงระยะทางใกล้ไกล เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามวันและเวลาที่กำหนดในหนังสือ

         มาตรา ๓๒ การส่งหนังสือเรียก ให้ส่งแก่เจ้าอาวาสหรือผู้แทนเจ้าอาวาสที่ผู้ถูกเรียกนั้นสังกัดอยู่

         มาตรา ๓๓ เมื่อบุคคลผู้รับหนังสือเรียก อยู่ต่างท้องที่ซึ่งออกหนังสือ ถ้าเป็นหนังสือของคณะวินัยธร ก็ให้ส่งไปยังคณะวินัยธร ถ้าเป็นหนังสือของเจ้าอาวาส เจ้าคณะหรือเจ้าคณะจังหวัด ได้รับหนังสือเช่นนั้นแล้วให้จัดการตามบทบัญญัติในมาตรา ๓๒ แห่งประมวลนี้

         มาตรา ๓๔ ในการสอบสวนก็ดี ในการพิจารณาก็ดี ถ้าเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือคณะวินัยธร มีข้อขัดข้องที่จะกระทำการเรียก การค้นวัตถุหรือบุคคลในที่ใดๆหรือการมอบหมายให้รักษาวัตถุหรือกักตัวบุคคล ก็ให้ขออำนาจเจ้าอาวาส เจ้าคณะในที่นั้นๆหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเพื่อสะดวกแก่การนั้นๆแล้วแต่กรณี

         เมื่อเสร็จการนั้นๆแล้วให้รีบแจ้งแก่ผู้ที่ตนขออำนาจทราบทันที

         มาตรา ๓๕ จดหมาย ไปรษณีย์ โทรเลข สิ่งพิมพ์ หรือเอกสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์และโทรเลข จากหรือถึงตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอยู่ในความครองครองของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์และโทรเลข ถ้าเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือเจ้าคณะวินัยธรต้องการ เพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ไต่สวนมูลอธิกรณ์ พิจารณา หรือการกระทำอย่างอื่นใดตามประมวลนี้ก็ให้ขออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร  เพื่อให้ได้เอกสารนั้นมา

ภาคที่ ๒

สอบสวน

——-

ลักษณะ ๑
หลักทั่วไป

         มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้พระธรรมธรยื่นฟ้องอธิกรณ์โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

         มาตรา ๓๗ เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลผู้กล่าวโทษไม่ยอมแสดงตน หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือในบันทึกคำกล่าวโทษ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร จะไม่ทำการสอบสวนก็ได้

         ในกรณีที่จะทำการสอบสวน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำเรื่องราวไปฟ้องเป็นคดียังศาลหลวงฝ่ายอาณาจักร ก่อนร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทางคณะสงฆ์ หรือภายหลังการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแต่อยู่ระหว่างการสอบสวน ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๗๑ แห่งประมวลนี้  มาบังคับใช้ในการสอบสวนเรื่องนั้นโดยอนุโลม

         มาตรา ๓๘ เจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจดำเนินอธิกรณ์ ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้และมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องอธิกรณ์ได้ เฉพาะในกรณีที่สงฆ์เป็นผู้เสียหาย

         มาตรา ๓๙ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร มีอำนาจมอบให้ผู้อื่นทำการสอบสวนแทนได้ในกรณีดังต่อไปนี้

              (๑) การใด ในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน มีอำนาจส่งประเด็นไปให้เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ซึ่งมีอำนาจทำการสอบสวนดำเนินการนั้น

              (๒) การใดเป็นสิ่งเล็กน้อย ในการสอบสวนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตน ไม่ว่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น มีอำนาจสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำการแทนได้ แต่ทั้งนี้ ในเมื่อประมวลนี้หรือสังฆาณัติอื่นมิได้เจาะจงให้ทำด้วยตนเอง

         มาตรา ๔๐ การพิสูจน์วัตถุหรือสถานที่โดยการหาภาพถ่ายหรือแผนที่ เพื่อหาข้อเท็จจริงประกอบการสอบสวนได้ทำไปแล้วอย่างไร ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ลักษณะ ๒
การสอบสวน

         มาตรา ๔๑ ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใดเวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย

         มาตรา ๔๒ ให้เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิด

         มาตรา ๔๓ เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานให้เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร  ผู้สอบสวน มีอำนาจดังต่อไปนี้

              (๑) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือสถานที่ อันอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ รวมทั้งการหาภาพถ่าย แผนที่ ภาพวาด ภาพจำลอง พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะทำให้อธิกรณ์แจ่มกระจ่างขึ้น

              (๒) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ที่มีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้ หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิดหรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานในอธิกรณ์ได้

              (๓) ออกหนังสือเรียกบุคคลผู้ครอบครองสิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกเรียกไม่จำต้องมาเองก็ได้ เมื่อจัดส่งสิ่งของนั้นมาตามหนังสือเรียกแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหนังสือเรียกแล้ว

              (๔) ยึดได้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบ หรือที่ผู้ครอบครองได้ส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา ๒ และ ๓ แห่งมาตรานี้ แต่ในการยึดนั้น ถ้าจำเป็น ให้ขออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร

         มาตรา ๔๔ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร มีอำนาจออกหนังสือเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่อธิกรณ์ ให้มาตามวัน เวลา และสถานที่ในหนังสือ แล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้

         การถามปากคำนั้น จะให้ผู้ให้ถ้อยคำปฏิญาณตนก่อนก็ได้

         ห้ามมิให้เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร พูดให้ท้อใจหรือใช้กลอุบายอื่น เพื่อกีดกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ

         มาตรา ๔๕ เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือถูกส่งตัวมา หรือเข้าหาเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหารเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร เป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อ ฉายา อายุ พรรษา วัดที่สำนักอยู่ และแจ้งข้อหาให้ทราบและต้องบอกให้ทราบก่อนว่า ถ้อยคำที่ผู้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใด ก็ให้จดจำคำให้การนั้นไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การ ก็ให้บันทึกไว้

         มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวน ทำหรือจัดการให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง หรือขู่เข็ญหรือให้สัญญาแก่ผู้ต้องหา เพื่อจะให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น

         มาตรา ๔๗ เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวนจะกักหรือจัดการให้กักตัวผู้ต้องหา ซึ่งในระหว่างสอบสวน ปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือจะปล่อยชั่วคราวก็ทำได้  ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลสมควรจริงๆ

         มาตรา ๔๘ เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวน ขณะทำการอยู่ในวัดหรือในสถานที่อื่นๆ มีอำนาจสั่งมิให้ผู้ใดเข้ามาหรือออกไปจากที่นั้นๆ ได้ชั่วเวลาเท่าที่จำเป็น

         มาตรา ๔๙ เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวน มีอำนาจสอบสวนเอง หรือส่งประเด็นไปสอบ เพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิตและความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหาแต่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบความทุกข้อที่ได้มา

         มาตรา ๕๐ เจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้สอบสวนต้องบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลนี้ อันว่าด้วยการสอบสวน และให้นำบันทึกและเอกสารซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าอาวาสเจ้าคณะฝ่ายบริหารอื่นผู้สอบสวนอธิกรณ์เดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้

         เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวนไว้ ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้

         มาตรา ๕๑ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหารผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

              (๑) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ให้งดการสอบสวนและการบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้

              (๒) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด ให้ใช้บทบัญญัติในมาตรา ๕๒ และ ๕๓ แห่งประมวลนี้

         มาตรา ๕๒ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด แต่เรียกตัวยังไม่ได้ ก็ให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ตัวมา เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ให้ดำเนินการตามความในบทบัญญัติมาตรา ๑๕ และ ๕๗ แห่งประมวลนี้

         มาตรา ๕๓ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ผู้นั้นยังถูกกักตัวอยู่ ให้ออกหนังสือสั่งให้เจ้าอาวาสที่ผู้กระทำผิดนั้นถูกกักตัวอยู่นำตัวส่งมาดำเนินอธิกรณ์ต่อไป  ตามความในบทบัญญัติมาตรา ๕๒ แห่งประมวลนี้

         มาตรา ๕๔ ให้เจ้าคณะจังหวัด แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องอธิกรณ์ให้ผู้ต้องหาทราบ ถ้าผู้ต้องหาถูกกักตัวอยู่ ให้จัดการปล่อยไป

         มาตรา ๕๕ เมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้องอธิกรณ์แล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในอธิกรณ์เดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่อธิกรณ์ ซึ่งน่าจะชำระมลทินของคณะสงฆ์และของพระพุทธศาสนาได้

ภาคที่ ๓

ฟ้องอธิกรณ์

——–

ลักษณะ ๑
หลักทั่วไป

         มาตรา ๕๖ บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องอธิกรณ์ต่อคณะวินัยธรได้

              (๑) พระธรรมธร

              (๒) บุคคลผู้เสียหาย

         มาตรา ๕๗ ในกรณีที่สงฆ์เป็นผู้เสียหาย คือที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือความเสื่อมเสียแก่สงฆ์หรือแก่พระศาสนา ให้เจ้าคณะจังหวัดส่งเรื่องให้พระธรรมธร เมื่อพระธรรมธรพิจารณาเห็นว่ามีมูล ก็ให้ขออนุมัติต่อเจ้าคณะจังหวัดเพื่อดำเนินอธิกรณ์ต่อไปตามระเบียบ พระธรรมธรต้องเป็นโจทก์ในนามของสงฆ์จนถึงที่สุด เมื่อพิจารณาเห็นว่าไม่มีมูล ก็ให้เสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อสั่งไม่ฟ้อง

         มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายที่เป็นอุปสัมบัน ย่อมฟ้องอธิกรณ์ได้ เมื่อได้อาปุจฉาเจ้าอาวาสที่ตนสังกัดอยู่แล้ว

         มาตรา ๕๙ เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ถ้าเป็นอธิกรณ์เนื่องด้วยการปกครองหรือเนื่องด้วยพระวินัย ให้เจ้าคณะจังหวัดจัดการรวมเรื่องนั้นมอบให้พระธรรมธรดำเนินการแทนต่อไปจนกว่าอธิกรณ์จะถึงที่สุด ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้ที่มีส่วนเสียหายร่วมด้วยจะดำเนินการต่อไปจนกว่าอธิกรณ์จะถึงที่สุดก็ได้

         มาตรา ๖๐ เมื่อพระธรรมธรและบุคคลผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน หรือผู้เสียหายเป็นพยาน ถ้าพระธรรมธรเห็นว่าผู้เสียหายจะทำให้รูปอธิกรณ์เสียไป เพราะกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆในกระบวนพิจารณา พระธรรมธรมีอำนาจร้องต่อคณะวินัยธรเพื่อให้สั่งผู้เสียหายละเว้นหรือกระทำการกระทำนั้น ๆ ได้

         มาตรา ๖๑ คำร้องขอถอนฟ้องอธิกรณ์อันกล่าวหากันไม่ถึงอันติมวัตถุ จะยื่นในระยะใดๆก่อนมีคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้นก็ได้  คณะวินัยธรจะได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

         แต่ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นภายหลัง  เมื่อจำเลยให้การแก้อธิกรณ์แล้ว ให้คณะวินัยธรถามจำเลยว่า จะคัดค้านหรือไม่ จำเลยแถลงอย่างไร ให้คณะวินัยธรจดไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้คณะวินัยธรยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

         อธิกรณ์ที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว แต่ไม่เป็นที่น่ารังเกียจทางพระวินัย จะถอนฟ้องหรือยอมความในระยะใดก่อนอธิกรณ์ถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้คณะวินัยธรยกคำร้องขอถอนฟ้องหรือยอมความนั้นเสีย

         มาตรา ๖๒ อธิกรณ์ซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากคณะวินัยธรแล้วผู้ถอนฟ้องจะนำมาฟ้องอีกไม่ได้

         มาตรา ๖๓ อธิกรณ์ย่อมระงับ เพราะเหตุดังต่อไปนี้

              (๑) ในอธิกรณ์ที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกกันเอง

              (๒) จำเลยถึงมรณภาพ

              (๓) จำเลยละเพศภิกษุ เว้นแต่อธิกรณ์ที่ลักษณะความผิดถึงอันติมวัตถุ

              (๔) อธิกรณ์ถึงที่สุด

         มาตรา ๖๔ สิทธินำอธิกรณ์มาฟ้องย่อมระงับ เพราะเหตุดังต่อไปนี้

              (๑) ผู้กระทำผิดถึงมรณภาพ

              (๒) ผู้กระทำผิดละเพศภิกษุ เว้นแต่อธิกรณ์ที่ลักษณะความผิดถึงอันติมวัตถุ

              (๓) ได้ถอนฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความกันแล้วโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผน

              (๔) อธิกรณ์ระงับไปด้วยเหตุตามมาตรา ๖๓ แห่งประมวลนี้

              (๕) มีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว

              (๖) มีสังฆาณัติออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดนั้น

              (๗) มีสังฆาณัติยกเว้น

ลักษณะ ๒
การฟ้องอธิกรณ์

         มาตรา ๖๕ การฟ้องอธิกรณ์ ให้ยื่นฟ้องต่อคณะวินัยธรชั้นต้นคณะใดคณะหนึ่ง ที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้

         มาตรา ๖๖ จะฟ้องผู้ใดเป็นจำเลยยังคณะวินัยธร โจทก์พึงแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้นั้นทราบก่อน

         มาตรา ๖๗ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และต้องมี

              (๑) ชื่อคณะวินัยธรจังหวัด

              (๒) วัน เดือน ปี

              (๓) อธิกรณ์ระหว่างผู้ใดเป็นโจทก์ ผู้ใดจำเลย และวัตถุแห่งความผิด

             (๔) ชื่อพระธรรมธรผู้เป็นโจทก์ ถ้าบุคคลเป็นโจทก์ให้ลงชื่อ ฉายา อายุ พรรษา วัดที่สำนักอยู่ หรือชื่อ ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่ แล้วแต่กรณี

              (๕) ชื่อ ฉายา อายุ พรรษา วัดที่สำนักอยู่ของจำเลย

              (๖) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี

              ในอธิกรณ์ฐานหมิ่นประมาท คำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน ภาพตีพิมพ์ หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ หรือติดท้ายฟ้องมาด้วย

              (๗) อ้างพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือสังฆาณัติซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

              (๘) ลายมือชื่อโจทก์ และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ฟ้อง

         มาตรา ๖๘ ความผิดหลายวัตถุจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกวัตถุเรียงเป็นลำดับกันไป ความผิดแต่ละวัตถุจะถือว่าเป็นข้อหาแยกจากข้อหาอื่นก็ได้

         มาตรา ๖๙ ถ้าฟ้องไม่ต้องตามพระวินัย สังฆาณัติ หรือระเบียบแบบแผนใดๆให้คณะวินัยธรสั่งโจทก์ให้แก้ฟ้อง ให้ถูกต้อง

ภาค ๔

วิธีพิจารณาวินิจฉัยในคณะวินัยธรชั้นต้น

———

ลักษณะ ๑
หลักทั่วไป

         มาตรา ๗๐ คณะวินัยธรผู้พิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงตั้งอยู่ในธรรม ไม่พึงน้อมใจเชื่อก่อนว่า จำเลยเป็นดังคำกล่าวหานั้น

         มาตรา ๗๑ อธิกรณ์ใดที่คู่อธิกรณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นำไปฟ้องเป็นคดียังศาลหลวงฝ่ายอาณาจักร ก่อนนำมาฟ้องยังคณะวินัยธร ถ้าคดีนั้นยังไม่ถึงทีสุด ห้ามมิให้คณะวินัยธรรับอธิกรณ์นั้นไว้พิจารณา แม้คดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าคณะวินัยธรเห็นไม่สมควร จะไม่รับไว้พิจารณาก็ได้

         ถ้าในระหว่างการไต่สวนมูลอธิกรณ์ พิจารณา คู่อธิกรณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปฟ้องเป็นคดียังศาลหลวงอีก คณะวินัยธรจะรอการนั้นๆไว้จนกว่าคดีในศาลหลวงจะถึงที่สุด จึงดำเนินอธิกรณ์นั้นต่อไป หรือจะจำหน่ายอธิกรณ์นั้นเสียก็ได้

         มาตรา ๗๒ อธิกรณ์เรื่องเดียวกัน ซึ่งพระธรรมธรและบุคคลผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในคณะวินัยธรชั้นต้นคณะเดียวกันหรือต่างคณะกัน เมื่อคณะวินัยธรเห็นชอบเอง หรือโจทก์ได้ยื่นคำร้องในระยะใดระยะหนึ่งก่อนมีคำวินิจฉัย คณะวินัยธรนั้นย่อมมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นอธิกรณ์เดียวกันก็ได้ แต่การสั่งนั้นต้องได้รับความยินยอมและเห็นชอบร่วมกันกับคณะวินัยธรอื่นนั้นก่อน

         ในอธิกรณ์ที่ฟ้องระบุความผิดหลายวัตถุรวมกัน ถ้าคณะวินัยธรเห็นสมควร จะสั่งให้แยกสำนวนพิจารณาความผิดใดหรือหลายวัตถุต่างหาก และจะสั่งเช่นนี้ก่อนพิจารณาหรือในระหว่างพิจารณาก็ได้

         มาตรา ๗๓ พระวินัยธรรูปใด เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์ที่ตนจะพึงพิจารณาวินิจฉัย โดยฐานเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ดี  โดยฐานเป็นพยานฝ่ายโจทก์หรือจำเลยก็ดี  โดยฐานที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในอธิกรณ์นั้นก็ดี  ห้ามมิให้พระวินัยธรรูปนั้นเข้าร่วมการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

         มาตรา ๗๔ ในกรณีดังต่อไปนี้ พระวินัยธรจะขอถอนตัวออกจากการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น

              (๑) เป็นพระอุปัชฌาย์หรือพระกรรมวาจาจารย์ของโจทก์หรือจำเลย

              (๒) เป็นสัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกของโจทก์หรือจำเลย

              (๓) เป็นเจ้าอาวาสวัดที่โจทก์หรือจำเลยสำนักอยู่

              (๔) เป็นผู้สำนักอยู่ในวัดที่โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าอาวาส

              (๕) เป็นญาติของโจทก์หรือจำเลย

         การถอนดังกล่าวนี้ ต้องกระทำก่อนการพิจารณาวินิจฉัย

         มาตรา ๗๕ ภายในบทบัญญัติแห่งมาตรา ๗๓ และ ๗๔ เมื่อคณะวินัยธรไม่สามารถนั่งพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นได้ ให้ประธานคณะวินัยธรสั่ง พระวินัยธร หรือคณะวินัยธรอื่นไปนั่งพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะอธิกรณ์นั้น

         มาตรา ๗๖ อธิกรณ์ย่อมเป็นอันวินิจฉัยโดยชอบ เมื่อคณะวินัยธรได้พิจารณาวินิจฉัยตามพระธรรมวินัยและบทบัญญัติแห่งประมวลนี้

ลักษณะ ๒
การไต่สวนมูลอธิกรณ์

         มาตรา ๗๗ เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องถูกต้องตามพระวินัยสังฆาณัติ หรือระเบียบแบบแผนแล้ว ให้คณะวินัยธรดำเนินการดังต่อไปนี้

              (๑) อธิกรณ์ที่บุคคลผู้เสียหายเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลอธิกรณ์ แต่ถ้าอธิกรณ์นั้นพระธรรมธรได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา ๒ แห่งมาตรานี้

              (๒) ในอธิกรณ์ที่พระธรรมธรเป็นโจทก์ ไม่จำต้องไต่สวนมูลอธิกรณ์ แต่ถ้าเห็นสมควร จะไต่สวนมูลอธิกรณ์ก็ได้

              มูลอธิกรณ์นั้น ดังนี้

                    (ก) ได้เห็นเอง

                    (ข) ได้ฟ้องเอง

                    (ค) รังเกียจว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง

              (๓) ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลอธิกรณ์ดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้คณะวินัยธรรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป

         มาตรา ๗๘ อธิกรณ์อันต้องด้วยลักษณะควรรับฟ้องนั้นดังนี้

              (๑) ฟ้องด้วยศีลวิบัติ

              (๒) ฟ้องด้วยอาจารวิบัติ

              (๓) ฟ้องด้วยทิฐิวิบัติ

              (๔) ฟ้องด้วยอาชีววิบัติ

         มาตรา ๗๙ เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อคณะวินัยธร ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง ก่อนมีคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้น ถ้าคณะวินัยธรชั้นต้นเห็นสมควร จะอนุญาตหรือจะไต่สวนมูลอธิกรณ์ก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำนวนแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้อธิกรณ์ และคณะวินัยธรจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

         เมื่อมีเหตุอันสมควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำแถลงแก้ฟ้องของตน  ก่อนมีคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้น ถ้าคณะวินัยธรเห็นสมควร จะอนุญาตก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้ว ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์

         มาตรา ๘๐ คำร้องขอแก้ฟ้องหรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้อธิกรณ์ ห้ามมิให้คณะวินัยธรอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี การทำเช่นนี้ในระหว่างการพิจารณาในคณะวินัยธรชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

         มาตรา ๘๑ ในกรณีที่พระธรรมธรเป็นโจทก์ ในวันไตสวนมูลอธิกรณ์ ให้จำเลยมายังคณะวินัยธร เมื่อคณะวินัยธรเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้ส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยเป็นรายตัวไป ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้คณะวินัยธรทำบันทึกไว้ และดำเนินการไต่สวนมูลอธิกรณ์ต่อไป

         จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลอธิกรณ์

         ในอธิกรณ์ซึ่งบุคคลเสียหายเป็นโจทก์ คณะวินัยธรมีอำนาจไต่สวนมูลอธิกรณ์ ลับหลังจำเลย ให้คณะวินัยธรส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยเป็นรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลอธิกรณ์หรือไม่มาก็ได้ ถ้ามา จะซักคัดค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้คณะวินัยธรถามคำให้การจำเลย และก่อนที่พระวินัยธรรับฟ้อง มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

         มาตรา ๘๒ ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้คณะวินัยธรสั่งยกฟ้องเสีย แต่ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่ามีเหตุสมควร จะสั่งเลื่อนอธิกรณ์ไปก็ได้

         อธิกรณ์ที่คณะวินัยธรได้สั่งยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่คณะวินัยธรสั่งยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้คณะวินัยธรเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ก็ให้คณะวินัยธรยกอธิกรณ์นั้นขึ้นไต่สวนมูลอธิกรณ์ใหม่

         ในอธิกรณ์ที่คณะวินัยธรยกฟ้องแล้ว จะฟ้องจำเลยในอธิกรณ์เรื่องเดียวกันนั้นไม่ได้ แต่ถ้าคณะวินัยธรยกฟ้องเช่นนี้ ในอธิกรณ์ซึ่งบุคคลเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหารจะดำเนินอธิกรณ์นั้นอีก เว้นแต่อธิกรณ์นั้นจะได้ดำเนินการระงับกันในฝ่ายบริหารครั้งหนึ่งแล้ว หรือเป็นความผิดต่อส่วนตัว

         มาตรา ๘๓ ถ้าปรากฏว่าอธิกรณ์มีมูล ให้ส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยเป็นรายตัวไป ให้คณะวินัยธรรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป เฉพาะรายวัตถุที่มีมูล ถ้าอธิกรณ์ไม่มีมูลให้วินิจฉัยยกฟ้อง

         มาตรา ๘๔ เมื่อคณะวินัยธรรับฟ้องแล้ว ให้ส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยเป็นรายตัวไป ให้คณะวินัยธร เว้นแต่จำเลยจะได้รับสำเนาไว้ก่อนแล้ว

         มาตรา ๘๕ เมื่อคณะวินัยธรรับฟ้องแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ให้คณะวินัยธรออกหนังสื่อเรียกตัวจำเลยมาเพื่อพิจารณาต่อไป

         แต่ในอธิกรณ์ที่กล่าวหาถึงอันติมวัตถุ ให้ออกหนังสือเรียกมีกำหนดให้มาภายในสามสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว แม้จำเลยไม่มาแก้อธิกรณ์ ก็ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

         มาตรา ๘๖ คำสั่งของคณะวินัยธรที่ว่าอธิกรณ์มีมูล ย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าอธิกรณ์ไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์และฎีกาได้

         ถ้าโจทก์ร้องขอ คณะวินัยธรจะสั่งให้เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร กักตัวจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์และฎีกาก็ได้

         มาตรา ๘๗ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ อันว่าด้วยการสอบสวนและการพิจารณา เว้นแต่มาตรา ๙๐ มาบังคับใช้ในการไต่สวนมูลอธิกรณ์โดยอนุโลม

การพิจารณา

         มาตรา ๘๘ การพิจารณาและการสืบพยานในคณะวินัยธร ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าโจทก์และจำเลย เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

         เมื่อโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าคณะวินัยธรแล้ว และคณะวินัยธรเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ให้สติแก่จำเลยเพื่อให้ระลึกถึงการกระทำของตนและถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การเพื่อเปลื้องตัวอย่างไรบ้าง  คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้คณะวินัยธรบันทึกไว้ และให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

         มาตรา ๘๙ ก่อนนำพยานเข้าสืบ โจทก์มีอำนาจเปิดอธิกรณ์ เพื่อให้คณะวินัยธรทราบอธิกรณ์ของโจทก์ คือแถลงถึงลักษณะฟ้อง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เสร็จแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ

         เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยมีอำนาจเปิดอธิกรณ์เพื่อให้คณะวินัยธรทราบอธิกรณ์ของจำเลย คือแถลงข้อเท็จจริง ข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ซึ่งตั้งใจอ้างอิง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสืบ

         เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยมีอำนาจแถลงปิดอธิกรณ์ของตนด้วยปากหรือหนังสือ หรือทั้งสองอย่าง

         ในระหว่างการพิจารณา ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานหรือทำการอะไรอีก จะสั่งงดพยานหรือการนั้นๆเสียก็ได้

         มาตรา ๙๐ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าคณะวินัยธรเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนหรือบันทึกใดๆอันเกี่ยวกับอธิกรณ์นั้น จากเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือพระธรรมธร มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้

         มาตรา ๙๑ ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ก็ให้คณะวินัยธรวินิจฉัยได้ เว้นแต่อธิกรณ์อันกล่าวหากันถึงอันติมวัตถุ หรืออธิกรณ์อันมีโทษถึงต้องสึก  คณะวินัยธรต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

         มาตรา ๙๒ การไต่สวน การพิจารณา ของคณะวินัยธรต้องทำเป็นการลับ

         ในกรณีเช่นนี้ บุคคลเหล่านี้เท่านั้น มีสิทธิอยู่ในที่ไต่สวนพิจารณา คือ

              (๑) โจทก์และจำเลย

              (๒) พยานเฉพาะผู้ที่กำลังให้การ

              (๓) ผู้ชำนาญการพิเศษที่คณะสงฆ์เชิญมาเพื่อการนั้น

                (๔) บุคคลที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง และได้รับอนุญาตจากคณะวินัยธรผู้ทำการนั้นแล้ว

              (๕) เจ้าหน้าที่ฝ่ายคณะสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรที่คณะวินัยธรเชิญมาเพื่อรักษาความปลอดภัย แล้วแต่กรณี

         มาตรา ๙๓ ภายในบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ หรือแห่งสังฆาณัติอื่นคณะวินัยธรจะดำเนินการพิจารณาตลอดไปจนเสร็จโดยไม่เลื่อนก็ได้

         ถ้าพยานไม่มาหรือมีเหตุอันควรต้องเลื่อนการพิจารณา ก็ให้คณะวินัยธรเลื่อนการพิจารณาไปได้ตามที่เห็นสมควร

         มาตรา ๙๔ ในขณะกระทำการไต่สวน พิจารณา ให้ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้ามีผู้ใดก่อความไม่สงบเรียบร้อย ให้คณะวินัยธรสั่งให้ออกเสียจากที่นั้นโดยเป็นรายตัว แต่ห้ามมิให้สั่งให้จำเลยออกจากที่นั้น เว้นแต่จำเลยขัดขวางต่อการกระทำนั้น

         มาตรา ๙๕ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๕๐ และ ๘๒ แห่งประมวลนี้ มาบังคับใช้ในการพิจารณาโดยอนุโลม

ลักษณะ ๔
คำวินิจฉัยและคำสั่ง

         มาตรา ๙๖ อธิกรณ์ที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลอธิกรณ์หรือพิจารณา ถ้ามีคำร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา ให้คณะวินัยธรสั่งตามที่เห็นควร เมื่อการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้วินิจฉัยหรือสั่งตามรูปอธิกรณ์

         ให้อ่านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งในคณะวินัยธรโดยเปิดเผย ในวันเสร็จการพิจารณาหรือภายในสามวันนับแต่วันที่เสร็จอธิกรณ์ ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านคำวินิจฉัยในวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้

         เมื่อคณะวินัยธรอ่านให้คู่อธิกรณ์ฟังแล้ว ให้คู่อธิกรณ์ลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มา จะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ เมื่อจำเลยไม่อยู่ คณะวินัยธรจะอ่านไม่ได้ จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ถ้าจำเป็นจะออกหนังสือเรียกให้มาก็ได้ ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันนัดอ่านนัดเเรก คณะวินัยธรจะอ่านลับหลังจำเลยก็ได้

         แต่ในอธิกรณ์ที่คณะวินัยธรมีอำนาจพิจารณาลับหลังจำเลย ตามความในบทบัญญัติมาตรา ๘๕ แห่งประมวลนี้ คณะวินัยธรมีอำนาจอ่านคำวินิจฉัยได้ทันที ในเมื่อการพิจารณาวินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว

         มาตรา ๙๗ คำวินิจฉัย หรือคำสั่ง หรือความเห็นแย้ง ต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อพระวินัยธรผู้นั่งพิจารณา ความเห็นแย้งให้รวมเข้าสำนวนไว้ด้วย

         มาตรา ๙๘ ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำวินิจฉัย หรือคำสั่ง ให้หัวหน้าคณะวินัยธร ในคณะนั้นๆหรือพระวินัยธรเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามพระวินัยธรที่นั่งร่วมพิจารณาทีละรูปให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเอาเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้พระวินัยธรรูปที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำนวนมาก ยอมเห็นด้วยกับพระวินัยธรรูปที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า แต่ทั้งนี้ต้องถือข้อเท็จจริงและพระวินัยเป็นหลัก

         มาตรา ๙๙ ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของฝ่ายจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี มีเหตุผลตามพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้คณะวินัยธรยกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยพ้นข้อหาไป

         เมื่อคณะวินัยธรเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ให้คณะวินัยธรลงโทษแก่จำเลยตามความผิด

         แต่ถ้าอธิกรณ์ยังไม่ถึงที่สุด คณะวินัยธรจะสั่งกักหรืองดการกักจำเลยไว้ชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลสมควรจริง ๆ

         มาตรา ๑๐๐ คำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ต้องมีข้อความสำคัญเหล่านี้

              (๑) ชื่อคณะวินัยธร

              (๒) วัน เดือน ปี

              (๓) อธิกรณ์ระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย

              (๔) เรื่องที่ยกขึ้นเป็นอธิกรณ์

              (๕) ข้อหาและคำให้การ

              (๖) ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ

              (๗) เหตุผลในการวินิจฉัย ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและพระวินัย พระราชบัญญัติ

              (๘) คณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ

              (๙) บทบัญญัติที่ยกขึ้นลงโทษ

              (๑๐) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือให้ลงโทษ

              (๑๑) คำวินิจฉัยของคณะวินัยธร ในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องเรียกพัสดุ

         มาตรา ๑๐๑ คำสั่งระหว่างพิจารณา อย่างน้อยต้องมี

              (๑) ชื่อคณะวินัยธร

              (๒) วัน เดือน ปี

              (๓) เหตุผลตามพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ

              (๔) คำสั่ง

         มาตรา ๑๐๒ คำวินิจฉัยหรือคำสั่ง มีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในคณะวินัยธรโดยเปิดเผยแล้วเป็นต้นไป

         มาตรา ๑๐๓ เมื่อจำเลยผู้ต้องคำวินิจฉัยให้ลงโทษ ขอสำเนาคำวินิจฉัยซึ่งรับรองว่าถูกต้อง ให้คณะวินัยธรให้สำเนาหนึ่งฉบับโดยไม่มีการประวิงใด ๆ

         มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้แก้คำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ได้อ่านแล้ว นอกจากจะแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

         มาตรา ๑๐๕ เมื่อเกิดสงสัยในการบังคับตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้องขอต่อคณะวินัยธรผู้วินิจฉัยหรือสั่ง ให้คณะวินัยธรนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง

         มาตรา ๑๐๖ ห้ามมิให้คณะวินัยธรวินิจฉัยหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

         ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาต่างจากข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง ให้คณะวินัยธรพิจารณาวินิจฉัยตามสมควรแก่รูปอธิกรณ์

         ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฎในทางพิจารณา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้คณะวินัยธรลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงนั้น

         ถ้าคณะวินัยธรเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้น โจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิด หรือบทมาตราผิด คณะวินัยธรมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้

         ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้น รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง คณะวินัยธรจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

         ในกรณีที่เป็นความผิดฐานละเมิดพระวินัย แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษหรือกล่าวไว้ในฟ้อง ถ้าพิจารณาได้ข้อเท็จจริง คณะวินัยธรมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามพระวินัยและสังฆาณัติที่บัญญัติโทษไว้อีกโสตหนึ่ง

         มาตรา ๑๐๗ ทัณฑกรรม อันคณะวินัยธรพึงลงแก่ผู้กระทำผิดตามควรแก่ความผิดนั้น ดังนี้

              (๑) ให้สึกและห้ามอุปสมบท

              (๒) ให้สึก

              (๓) ให้ปัพพาชนียกรรม หรือลงนิคหกรรมตามพระวินัย

              (๔) ให้กักบริเวณ โดยมีกำหนดเวลาไม่เกินเก้าสิบวัน

              (๕) ให้ทำงานภายในวัดโดยไม่เกินกว่ากำลังที่ผู้นั้นจะทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าเหตุ

              (๖) อันสมควร

              (๗) ให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษตามพระวินัย

              (๘) ให้ทำคืนอาบัติ

         ในการลงทัณฑกรรมตามมาตรานี้ ถ้ายังไม่มีพระวินัยหรือสังฆาณัติบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้ใช้ดุลยพินิจอ้างอาณัติคณะสงฆ์ ข้อบังคับ หรือระเบียบแบบแผนอื่น หรือเทียบเคียงกฎหมาย หรือจารีตประเพณี และให้ระบุไว้โดยชัดเจน

ภาคที่ ๕

อุทธรณ์และฎีกา

———–

ลักษณะ ๑
อุทธรณ์

         มาตรา ๑๐๘ อธิกรณ์ที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น ในข้อเท็จจริง ข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ให้อุทธรณ์ไปยังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

         อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ ข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ

         มาตรา ๑๐๙ เฉพาะอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ต้องมีพระภิกษุนักธรรมชั้นเอกหรือพระเปรียญลงชื่อรับรองในข้ออุทธรณ์นั้น เว้นแต่อุทธรณ์ของพระธรรมธร

         มาตรา ๑๑๐ ถ้าอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อพระวินัย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อพระวินัยนั้น คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะวินัยธรชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

         มาตรา ๑๑๑ ข้อพระวินัย พระราชบัญญัติ หรือสังฆาณัติทั้งปวง อันคู่อธิกรณ์ยกขึ้นอ้างอิง ให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นกล่าวแล้วในคณะวินัยธรชั้นต้น

         ข้อพระวินัย พระราชบัญญัติ หรือสังฆาณัติ เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์เหล่านี้ ผู้อุทธรณ์หรือคณะวินัยธรยกขึ้นอ้างได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในคณะวินัยธรชั้นต้นก็ตาม

         มาตรา ๑๑๒ คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้อธิกรณ์เสร็จสำนวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้น จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นด้วย

         มาตรา ๑๑๓ การที่มีอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งฉบับหนึ่งแล้ว หาเป็นการตัดสิทธิผู้อื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์จะอุทธรณ์ด้วยไม่

         มาตรา ๑๑๔ อุทธรณ์นั้นให้ยื่นต่อคณะวินัยธรชั้นต้น พร้อมด้วยสำเนาอีกสองฉบับภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันอ่านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งให้จำเลยฟัง และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ และ ๑๔๐ มาบังคับใช้โดยอนุโลม

         มาตรา ๑๑๕ ผู้อุทธรณ์ที่ถูกกักตัวอยู่ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าอาวาสวัดที่ผู้อุทธรณ์นั้นถูกกักตัวอยู่ เมื่อเจ้าอาวาสได้รับอุทธรณ์แล้วให้ออกใบรับให้แก่ผู้อื่น แล้วให้รีบส่งอุทธรณ์นั้นไปยังคณะวินัยธรชั้นต้น

         อุทธรณ์ฉบับใดที่ยื่นต่อเจ้าอาวาส ส่งไปถึงคณะวินัยธรในเมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว หากปรากฏว่าการส่งชักช้านั้น มิใช่เป็นความผิดของผู้ยื่นอุทธรณ์ ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นภายในกำหนดอายุอุทธรณ์

         มาตรา ๑๑๖ ให้คณะวินัยธรชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันรับสำเนาอุทธรณ์

         มาตรา ๑๑๗ เมื่อคณะวินัยธรชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้รีบส่งสำนวนไปยังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

         มาตรา ๑๑๘ ผู้อุทธรณ์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อคณะวินัยธรชั้นต้นก่อนส่งอุทธรณ์ไปยังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ คณะวินัยธรชั้นต้นสั่งอนุญาตได้ เมื่อส่งอุทธรณ์ไปแล้ว ให้ยื่นต่อคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์หรือต่อคณะวินัยธรชั้นต้นเพื่อส่งไปยังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์เพื่อสั่ง ทั้งนี้ ต้องก่อนอ่านคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

         เมื่อถอนอุทธรณ์ไปแล้ว ถ้าคู่อุทธรณ์อีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น ย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ จะเด็ดขาดต่อเมื่ออธิกรณ์ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ โดยไม่มีการแก้คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น

ลักษณะ ๒
การพิจารณา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

         มาตรา ๑๑๙ ให้คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผย เฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่อธิกรณ์มาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน

         มาตรา ๑๒๐ เมื่อจะพิจารณาในคณะวินัยธรโดยเปิดเผย ให้คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ออกหนังสือนัดกำหนดวันพิจารณา ไปยังคู่อุทธรณ์ ให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน

         การฟังคำแถลงนั้น ห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนั้บแต่วันรับสำนวน ถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้ แต่อย่าให้เกินสามสิบวัน เหตุที่ต้องช้า ให้คณะวินัยธรจดบันทึกรายงานไว้

         มาตรา ๑๒๑ คำร้องขอแถลงด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์

         คำแถลงเป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันที่คณะวินัยธรวินิจฉัย

         คำแถลงด้วยปากหรือด้วยหนังสือก็ตาม มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้ข้ออุทธรณ์เท่านั้น

         คำแถลงเป็นหนังสือจะยื่นต่อคณะวินัยธรชั้นต้น หรือต่อคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ก็ได้

         มาตรา ๑๒๒ ระเบียบแถลงด้วยปาก มีดังนี้

              (๑) ถ้าคู่อธิกรณ์ฝ่ายใดขอแถลง ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อนแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก

              (๒) ถ้าคู่อธิกรณ์ทั้งสองฝ่ายขอแถลง ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก

              (๓) ถ้าคู่อธิกรณ์ทั้งสองฝ่ายขอแถลง และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่ ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลงแก้ เสร็จแล้วให้โจทก์แถลงแก้ได้อีก

         มาตรา ๑๒๓ เมื่อมีอุทธรณ์คำวินิจฉัย คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะวินัยธรชั้นต้นออกหนังสือเรียกตัวจำเลยหรือสั่งให้กักตัวจำเลยไว้ หรือสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยซึ่งถูกกักอยู่ก่อนก็ได้

         มาตรา ๑๒๔ การพิจารณาอธิกรณ์ตามลักษณะนี้

              (๑) ถ้าคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์เห็นว่า ควรสืบพยานเพิ่มเติม ให้มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเอง หรือสั่งคณะวินัยธรชั้นต้นสืบให้ เมื่อคณะวินัยธรชั้นต้นสืบพยานแล้ว ให้ส่งสำนวนมายังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

              (๒) ถ้าคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจากคณะวินัยธรชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการพิจารณา ก็ให้วินิจฉัยสั่งให้คณะวินัยธรชั้นต้นทำการพิจารณา และวินิจฉัย หรือสั่งใหม่ตามรูปอธิกรณ์

         มาตรา ๑๒๕ ให้คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยโดยมิชักช้า และจะอ่านคำวินิจฉัยที่คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ หรือส่งไปให้คณะวินัยธรชั้นต้นอ่านก็ได้

         มาตรา ๑๒๖ เมื่อคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นภายในกำหนด ให้วินิจฉัยยกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย

         มาตรา ๑๒๗ เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยในประเด็นสำคัญ และคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์จะวินิจฉัยโดยคำวินิจฉัยอันเดียวกันก็ได้

         มาตรา ๑๒๘ อธิกรณ์ที่จำเลยอุทธรณ์คำวินิจฉัยที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองเดียวกัน หรือเป็นโทษทางพระวินัย

         มาตรา ๑๒๙ ในอธิกรณ์ที่จำเลยผู้หนึ่งคัดค้านคำวินิจฉัย ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายรูปในความผิดฐานเดียวกัน หรือต่อเนื่องกัน ถ้าคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์กลับหรือแก้คำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้น ไม่ลงโทษ หรือลดโทษ หรือเพิ่มโทษทางพระวินัยแก่จำเลย คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษ หรือถูกเพิ่มโทษทางพระวินัย ดุจจำเลยผู้อุทธรณ์

         มาตรา ๑๓๐ นอกจากข้อความซึ่งกำหนดให้มีในคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้นแล้ว คำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ ต้องปรากฏข้อความดังต่อไปนี้ด้วย

              (๑) ชื่อ ฉายา หรือชื่อสกุล ของผู้อุทธรณ์ แล้แต่กรณี

              (๒) ข้อความต้องมี ยื่น ยก แก้ หรือกลับคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นต้น

         มาตรา ๑๓๑ นอกจากที่บัญญัติมาแล้วในลักษณะนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ อันว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น มาบังคับใช้ในคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลม

ลักษณะ ๓
ฎีกา

————–

หลักทั่วไป

         มาตรา ๑๓๒ อธิกรณ์ซึ่งได้อ่านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์แล้ว และภายในบังคับแห่งมาตรา ๑๓๓ ถึง ๑๓๗ คู่อธิกรณ์มีอำนาจฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัย หรือคำสั่งนั้นภายในหกสิบวัน นับแต่วันอ่านคำวินิจฉัยให้จำเลยฟัง ฎีกานั้นให้ยื่นต่อคณะวินัยธรชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๑๖ และ ๑๑๗ มาบังคับใช้โดยอนุโลม

         มาตรา ๑๓๓ ในอธิกรณ์ซึ่งมีข้อจำกัดว่า ให้คู่อธิกรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ข้อจำกัดนี้ให้บังคับแก่คู่อธิกรณ์และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในอธิกรณ์ด้วย

         มาตรา ๑๓๔ ในอธิกรณ์ที่คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามคณะวินัยธรชั้นต้นหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่อธิกรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

         มาตรา ๑๓๕ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในอธิกรณ์ซึ่งคณะวินัยธรชั้นต้น และคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยยกฟ้องของโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง

         มาตรา ๑๓๖ ในอธิกรณ์ซึ่งคณะวินัยธรชั้นต้นวินิจฉัยให้ลงโทษจำเลย

              (๑) ให้กักบริเวณ

              (๒) ให้ทำงานภายในวัด

              (๓) ให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษตามพระวินัย

              (๔) ให้ทำคืนอาบัติ

         แม้คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยแก้ไขมาก็ตาม ถ้าคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์บังคับลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่อธิกรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

         มาตรา ๑๓๗ ในอธิกรณ์ซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา ๑๓๔ ๑๓๕ และ ๑๓๖ แห่งประมวลนี้ ถ้าพระวินัยธรรูปใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำวินิจฉัยหรือทำความเห็นแย้งในคณะวินัยธรชั้นต้นหรือในคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ พิเคราะห์ว่าข้อความที่วินิจฉัยนั้นเป็นปัญหาสำคัญ อันควรขึ้นสู่คณะวินัยธรชั้นสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรือเจ้าคณะจังหวัดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่คณะวินัยธรชั้นสูงสุดจะวินิยฉัยได้ ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป

         มาตรา ๑๓๘ ถ้าอธิกรณ์มีปัญหาแต่เฉพาะข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัติ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือสังฆาณัตินั้น คณะวินัยธรชั้นฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

         มาตรา ๑๓๙ ให้เป็นหน้าที่ของคณะวินัยธรชั้นต้น ตรวจฎีกาว่า ควรจะรับฎีกาส่งขึ้นไปยังคณะวินัยธรชั้นฎีกหรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับ ให้จดบันทึกเหตุผลไว้ในคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้นโดยชัดเจน

         มาตรา ๑๔๐ เมื่อคณะวินัยธรชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา คู่อธิกรณ์ย่อมฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้นนั้นต่อคณะวินัยธรชั้นฎีกาได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นต่อคณะวินัยธรชั้นต้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง แล้วให้คณะวินัยธรชั้นต้นนั้นรีบส่งคำร้องมายังคณะวินัยธรชั้นฎีกา พร้อมด้วยฎีกาและคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น และคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์

         เมื่อคณะวินัยธรชั้นฎีกา พิจารณาเห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งให้คณะวินัยธรชั้นต้นส่งมาให้

ลักษณะ ๔
การพิจารณา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ของคณะวินัยธรชั้นฎีกา

         มาตรา ๑๔๑ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลนี้ อันว่าด้วยการพิจารณา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ มาบังคับใช้ในคณะวินัยธรชั้นฎีกาโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

         มาตรา ๑๔๒ คำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นฎีกา เป็นอันถึงที่สุด จะคัดค้านมิได้

ภาคที่ ๖

พยานหลักฐาน

————–

ลักษณะ ๑
หลักทั่วไป

         มาตรา ๑๔๓ พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยประการอื่นอันมิชอบ และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้

         มาตรา ๑๔๔ ให้คณะวินัยธรใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าด่วนวินิจฉัยลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดอันนั้น

         เมื่อมีการสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย เว้นแต่การกระทำของจำเลยเป็นที่น่ารังเกียจทางพระวินัย

         มาตรา ๑๔๕ ระหว่างการพิจารณา โดยความเห็นชอบของคณะวินัยธร หรือคู่อธิกรณ์ฝ่ายใดขอร้อง คณะวินัยธรมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม จะสืบเองหรือส่งประเด็นไปสืบก็ได้

         มาตรา ๑๔๖ คณะวินัยธรเป็นผู้สืบพยาน จะสืบในคณะวินัยธร หรือในที่อื่นก็ได้ แล้วแต่เห็นสมควรตามลักษณะของพยาน

         มาตรา ๑๔๗ เมื่อจำเป็น คณะวินัยธรมีอำนาจไปเองหรือตั้งการกสงฆ์หรือพระภิกษุผู้สามารถรูปใดรูปหนึ่งไปเดินเผชิญสืบพยาน หรือส่งประเด็นให้คณะวินัยธรอื่นสืบพยาน ให้ผู้เดินเผชิญสืบและคณะวินัยธรที่รับประเด็น มีอำนาจและหน้าที่ดังคณะวินัยธรเดิม และคณะวินัยธรที่รับประเด็นมีอำนาจส่งประเด็นไปยังคณะวินัยธรอื่นอีกต่อหนึ่งได้

         เมื่อคู่อธิกรณ์แถลงต่อคณะวินัยธร ขอไปฟังการพิจารณา ก็ให้คณะวินัยธรสั่งหรือจัดการให้เป็นไปตามคำขอนั้น

         ถ้าคู่อธิกรณ์ฝ่ายใดไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา จะยื่นคำถามคำซักเป็นหนังสือก็ได้ ให้คณะวินัยธรหรือผู้เดินเผชิญสืบพยานตามนั้น

         ให้ส่งสำนวนหรือสำเนาฟ้อง สำเนาคำให้การและเอกสารหรือของกลางเท่าที่จำเป็นให้แก่ผู้เดินเผชิญสืบ หรือแก่คณะวินัยธรผู้รับประเด็นเพื่อสืบพยาน เมื่อคู่อธิกรณ์ที่ขอให้สืบพยานไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา ก็ให้ยื่นคำถามพยาน เป็นหนังสือ

         เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ให้ผู้เดินเผชิญสืบหรือคณะวินัยธรผู้รับประเด็น ส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมทั้งเอกสารหรือของกลางไปยังคณะวินัยธรเดิม

         มาตรา ๑๔๘ เมื่อคู่อธิกรณ์หรือผู้ใดซึ่งจะต้องให้การ หรือส่งพยานหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

              (๑) ข้อความหรือเอกสาที่เป็นความลับในคณะสงฆ์อยู่

              (๒) ข้อความลับหรือเอกสารลับ ซึ่งได้มา หรือทราบ เนื่องในปกติจริยาหรือหน้าที่ของเขา

              (๓) วิธีการ แบบแผน หรืองานอย่างอื่น ซึ่งพระวินัย กฎหมาย หรือสังฆาณัติ คุ้มครองไม่ยอมให้เปิดเผย

         คู่อธิกรณ์หรือบุคคลนั้น ๆ มีอำนาจไม่ยอมให้การหรือส่งพยานหลักฐาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น

         ถ้าคู่อธิกรณ์หรือบุคคลใดไม่ยอมให้การ หรือไม่ส่งพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว คณะวินัยธรมีอำนาจออกหนังสือเรียกเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับความลับนั้นมาแถลงต่อคณะวินัยธร ถ้าเจ้าหน้าที่หรือบุคคลนั้นเป็นคฤหัสถ์ ให้คณะวินัยธรขออำนาจต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเพื่อกระทำการนั้น เพื่อวินิจฉัยว่าการไม่ยอมนั้นมีเหตุผลค้ำจุนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่มีเหตุผล ให้คณะวินัยธรบังคับให้ให้การ หรือส่งพยานหลักฐานนั้น

ลักษณะ ๒
พยานบุคคล

         มาตรา ๑๔๙ ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

         มาตรา ๑๕๐ จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้

         ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน คณะวินัยธรจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นของฝ่ายจำเลยก็ได้ ถ้าคำจำเลยซึ่งให้การเป็นพยานนั้นปรักปรำ หรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่นนั้นซักคัดค้านได้

         มาตรา ๑๕๑ คู่อธิกรณ์อาจตั้งคำถามหรือติงพยานได้ในเมื่อพยานนั้นให้การเสร็จแล้ว

         พยานไม่ต้องตอบคำถามทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม อันอาจจะทำให้เขาถูกฟ้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องคดีในฝ่ายบ้านเมือง เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้คณะวินัยธรเตือนพยาน

         มาตรา ๑๕๒ ในระหว่างพิจารณา คณะวินัยธรมีอำนาจถามโจทก์จำเลย หรือพยานคนใดได้

         ห้ามิให้ถามจำเลย เพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมอธิกรณ์ของโจทก์ซึ่งบกพร่อง เว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน

         มาตรา ๑๕๓ ในระหว่างพิจารณา คณะวินัยธรมีอำนาจสั่งผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จำเลยให้ออกไปอยู่นอกที่พิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ อนึ่ง เมื่อพยานเบิกความแล้ว จะให้รออยู่ในที่พิจารณาก่อนก็ได้

         มาตรา ๑๕๔ คำพยานชั้นไต่สวนมูลอธิกรณ์หรือชั้นพิจาณรานั้น ให้คณะวินัยธรจดไว้ แล้วอ่านให้พยานฟังต่อหน้าโจทก์จำเลย เว้นแต่ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๑ วรรค ๓ แห่งประมวลนี้

         ให้พยานนั้นและคณะวินัยธรลงชื่อกำกับไว้ด้วย

ลักษณะ ๓
พยานเอกสาร

         มาตรา ๑๕๕ ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้

         ถ้าอ้างหนังสือราชการทั้งในคณะสงฆ์ ทั้งในฝ่ายอาณาจักรเป็นพยาน แม้ต้นฉบับยังมีอยู่ จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้ เว้นแต่ในหนังสือเรียกจะบ่งไว้เป็นอย่างอื่น

         มาตรา ๑๕๖ เอกสารใดซึ่งคู่อธิกรณ์อ้างเป็นพยาน แต่เอกสารนั้นมิได้อยู่ในความยึดถือของเขาทั้งหลาย ถ้าคู่อธิกรณ์นั้นแจ้งถึงลักษณะและที่อยู่ของเอกสาร คณะวินัยธรมีอำนาจสั่งให้ผู้ยึดถือส่งเอกสารนั้นแก่คณะวินัยธรได้

ลักษณะ ๔
พยานวัตถุ

         มาตรา ๑๕๗ สิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุ ต้องนำสิ่งนั้นมายังคณะวินัยธร

         ในกรณีที่นำมาไม่ได้ ให้คณะวินัยธรไปตรวจจดบันทึกรายงานยังที่ที่พยานวัตถุนั้นอยู่ ตามเวลาและวิธีซึ่งคณะวินัยธรเห็นสมควร ตามลักษณะแห่งพยานวัตถุ

         มาตรา ๑๕๘ ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลอธิกรณ์ หรือพิจารณาสิ่งของซึ่งเป็นพยานวัตถุ ต้องให้คู่อธิกรณ์หรือพยานตรวจดู

         ถ้ามีการแก้ห่อหรือทำลายตรา การห่อหรือตีตราใหม่ ให้ทำต่อหน้าคู่อธิกรณ์ หรือพยานที่เกี่ยวข้องกับการนั้น

ลักษณะ ๕
ผู้ชำนาญการพิเศษ

         มาตรา ๑๕๙ ผู้ใด โดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม มีความชำนาญพิเศษในการใด ๆ เช่น ทางวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ศิลปะ การฝีมือ ทางคันถธุระ ทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งความเห็นของเขาอาจมีประโยชน์ในการสอบสวน ไต่สวนมูลอธิกรณ์ หรือพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตรวจลายมือ ทำการทดลอง หรือกิจการอย่างอื่น ๆ

         คณะวินัยธรจะให้ผู้ชำนาญการพิเศษ ทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้มาเบิกความประกอบหนังสือนั้น ให้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวแล้วให้แก่คู่อธิกรณ์ทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเบิกความ

         ในกรณีที่ต้องใช้ผู้ชำนาญการพิเศษนี้ ถ้าหาไม่ได้ในฝ่ายคณะสงฆ์ ก็ให้คณะวินัยธรขออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร เพื่อให้สำเร็จประโยชน์นั้น

ภาค ๗

ข้อความเบ็ดเตล็ด

————–

ลักษณะ ๑
การบังคับตามคำวินิจฉัย

         มาตรา ๑๖๐ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๑ และ ๑๖๒ แห่งประมวลนี้ เมื่ออธิกรณ์ถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยโดยมิชักช้า

         คณะวินัยธรชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำวินิจฉัยที่ให้ลงโทษให้สึกไปยังคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้น และคำวินิจฉัยเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยยืน

         มาตรา ๑๖๑ คณะวินัยธรมีอำนาจสั่งให้รอการบังคับอธิกรณ์ไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันสมควรรอจะหมดไป ในกรณีดังต่อไปนี้

              (๑) เมื่อจำเลยอาพาธหนัก

              (๒) เมื่อจำเลยวิกลจริต

              (๓) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ถ้าต้องถูกลงโทษเช่นนั้น

              (๔) เมื่อจะเกิดความไม่สงบ

         ในระหว่างรอการบังคับอยู่นั้น ให้คณะวินัยธรสั่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร จัดให้จำเลยดังกล่าวแล้วนั้นอยู่ในสถานที่อันสมควร

         มาตรา ๑๖๒ อธิกรณ์ที่จำเลยต้องถูกสึก ห้ามมิให้บังคับตามคำวินิจฉัย จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลนี้อันว่าด้วยอภัยโทษ

ลักษณะ ๒
อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ

         มาตรา ๑๖๓ ผู้ต้องคำวินิจฉัยให้รับทัณฑกรรมที่มิใช่ความผิดทางพระวินัยโดยส่วนเดียว หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่ออธิกรณ์ถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะถวายเรื่องราวต่อสมเด็จพระสังฆราชขอประทานอภัยโทษ ให้ยื่นต่อสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

         มาตรา ๑๖๔ ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องถูกกักตัวอยู่ จะยื่นต่อเจ้าอาวาสที่ตนถูกกักนั้นก็ได้ แล้วให้เจ้าอาวาสรีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

         มาตรา ๑๖๕ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง มีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อสมเด็จพระสังฆราช พร้อมทั้งถวายความเห็นว่า ควรจะประทานอภัยโทษหรือไม่

         ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้าสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระสังฆราช ขอประทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำวินิจฉัย ก็ทำได้

         ในการถวายความเห็นหรือถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระสังฆราชดังกล่าวนั้น ย่อมกระทำได้โดยความเห็นขอบของคณะสังฆมนตรี

         มาตรา ๑๖๖ เรื่องราวขอประทานอภัยโทษทุกกรณี ถ้าถูกยกเลิกแล้ว จะยื่นอีกไม่ได้

         มาตรา ๑๖๗ เหตุที่มีเรื่องราวขอประทานอภัยโทษ ในโทษอย่างอื่นนอกจากโทษให้สึก ไม่เป็นผลให้รอการลงโทษนั้น

         ในกรณีที่มีการอภัยโทษโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้ว ให้หยุดทันที

         ถ้าการอภัยโทษเพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษ โทษที่เหลืออยู่ก็ให้บังคับไปได้

         แต่การได้รับประทานอภัยโทษนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้รับพ้นจากความรับผิดในการต้องคืนหรือใช้มูลค่าทรัพย์สิน หรือต้องรับสำนองตามคำวินิจฉัย

         มาตรา ๑๖๘ เมื่อผู้ได้รับประทานอภัยโทษเนื่องจากการกระทำผิดอย่างหนึ่ง ถูกฟ้องว่ากระทำผิดอีกอย่างหนึ่ง การอภัยโทษนั้น ย่อมไม่ตัดอำนาจคณะวินิจฉัยที่จะเพิ่มโทษหรือลงโทษฐานไม่เข็ดหลาบ

         มาตรา ๑๖๙ การยื่นเรื่องราวขอประทานอภัยโทษนั้น ต้องทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นสูงสุด แต่ในอธิกรณ์ที่จำเลยต้องคำวินิจฉัยให้สึกและไม่มีสิทธิที่จะฎีกา ย่อมทำได้ภายในกำหนดนั้น นับแต่วันที่ได้ฟังคำวินิจฉัยเด็ดขาดแล้ว

         จำเดิมแต่วันยื่นเรื่องราวขอประทานอภัยโทษนั้นไป ให้ดำเนินการขอประทานอภัยโทษให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน เมื่อเกินนั้นแล้ว ให้คณะวินัยธรบังคับอธิกรณ์นั้นให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย โดยไม่ต้องรอฟังเรื่องการขอประทานอภัยโทษนั้น

         มาตรา ๑๗๐ ทัณฑกรรมที่คณะวินัยธรวินิจฉัยลงโทษแก่ผู้กระทำผิดให้สึกและห้ามอุปสมบทนั้น ห้ามมิให้ยื่นเรื่องราวขอประทานอภัยโทษ ให้บังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยทันที ในเมื่ออธิกรณ์ถึงที่สุดแล้ว

         มาตรา ๑๗๑ บทบัญญัติในลักษณะนี้ แห่งประมวลนี้ ให้นำมาบังคับใช้โดยอนุโลมแก่เรื่องราวขอประทานเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษ แล้วแต่กรณี

ลักษณะ ๓
ค่าพาหนะและค่าใช้สอย

         มาตรา ๑๗๒ ในอธิกรณ์ฝ่ายสงฆ์ย่อมไม่มีค่าทำเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

         มาตรา ๑๗๓ ในอธิกรณ์ที่พระธรรมธรเป็นโจทก์ในนามของสงฆ์ ถ้าพยานโจทก์ต้องเสียค่าพาหนะ ให้เบิกได้ตามที่จ่ายไปจริง ไม่เกินสมควร

         ในกรณีที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ต้องเป็นจำเลยในนามของคณะสงฆ์ ถ้าพยานจำเลยต้องเสียค่าพาหนะ ก็ให้เบิกได้ตามที่จ่ายไปจริงไม่เกินสมควร

         มาตรา ๑๗๔ ในกรณีที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร ต้องเป็นจำเลยในนามของคณะสงฆ์ หรือในกรณีที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะฝ่ายบริหาร พระธรรมธร คณะวินัยธร หรือการกสงฆ์ ดำเนินอธิกรณ์ในคณะสงฆ์ ต้องเสียค่าใช้สอย ให้ตั้งไวยาวัจกรเบิกจ่ายได้ตามที่จ่ายไปจริงไม่เกินสมควร

         มาตรา ๑๗๕ การเบิกจ่ายนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายของกรมการศาสนา


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๑ เดือนกันยายน และเดือนเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ หน้า ๒๓๔-๒๙๖